วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เมื่อพบว่าโลกของอุปกรณ์ "Mobile" เริ่มจะไม่ปลอดภัย

เป็นที่ทราบกันในปัจจุบัน ถึงจำนวนตัวเลขของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีทั้งหลายก็่ต่างพุ่งเป้ามายังกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อันตรายอันเกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนที่เป็นเสมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเครื่องหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่พึงระวังอย่างยิ่ง หากผู้ใช้ขาดความระแวดระวังในการใช้งาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่เคยเจอภัยจากสมาร์ทโฟนกับตัวเอง

สมาร์ทโฟน

เจสัน มอก ผู้จัดการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ ไซแมนเทค เผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยอันตรายอันเกิดจากการก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าสิ่งสำคัญของผู้ใช้งานบนโลกไซเบอร์ปัจจุบัน คือเรื่องของ "ข้อมูลส่วนตัว" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เลขบัตรเครดิต หรือเลขที่บัตรประชาชน เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์เอง ก็ฉลาดมากขึ้น และไม่ต้องการแค่ข้อมูลเหล่านี้ หากแต่เป้าหมายที่แท้จริงคือ "เงิน"


ปัจจุบัน มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ทั่วโลกมากถึงกว่า 1 ล้านรายต่อวัน หรือคิดเป็นวินาทีละ 14 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 388,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือมากกว่า 12.4 ล้านล้านบาททีเดียว !!
 การก่ออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ที่สามารถป้องกันได้เหล่านี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือไวรัส/มัลแวร์ 54 เปอร์เซ็นต์ สแคมหรือพวกอีเมล์หลอก 21 เปอร์เซ็นต์ และเป็นภัยคุมคามบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ 10 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งผู้ชายตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกบนโลกออนไลน์มากกว่าผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ที่ใช้งานออนไลน์มากกว่าผู้หญิง และทางไซแมนเทคเอง ก็มีตัวเลขของผู้ใช้ที่ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยที่พบว่า มีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ทั่วโลกมีอยู่ราว 72 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งในยุคปัจจุบัน ผู้คนมีการใช้บริการโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้ใช้คิดว่าหากไม่ได้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ก็เหมือนกับการขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ

ที่สำคัญคือ 44 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ใช้เพื่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่ที่เคยพบประสบการณ์การก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์มาแล้ว

ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ที่มี "กูเกิลเพลย์" สำหรับโหลดแอพพลิเคชั่นที่เปิดกว้างมาก ทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาใช้ช่องทางดังกล่าวในการคิดโปรแกรมมาฝังตัวในเครื่องสมาร์ทโฟน และหลอกล่อเพื่อให้ได้เงินจากผู้ใช้ไป จนกลายเป็นแหล่งที่สร้างเงินได้อย่างมาก

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนต้องพึงระวังคือ "ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง"

การป้องกันตัวเองอย่างง่ายๆ ที่รู้ๆกันอยู่แต่ไม่ค่อยทำกัน คือ
  1. การติดต่อซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัสแบบสมบูรณ์เอาไว้
  2. การเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ และ
  3. หากมีข้อความ SMS หรืออีเมล์แปลกๆเข้ามา อย่าไปตอบรับหรือเปิดดู เพราะอาจถูกเจาะเข้าไปในระบบข้อมูลของสมาร์ทโฟน และต้องเสียเงินไปแบบไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว
คนคนหนึ่งอาจจะมีอุปกรณ์ไอทีใช้งานหลายชิ้น ตั้งแต่ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ทางไซแมนเทค จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมการใช้งานของคนกลุ่มนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอนซูมเมอร์ นอร์ตัน เอฟ เวอรี่แวร์ ที่จะสามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์ได้มากถึง 5 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งจะตอบโจทย์ของไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ต้องพกพาไปไหนมาไหนอยู่ตลอดเวลา มีข้อมูลสำคัญที่เราไม่อยากให้ใครมาล้วงเอาไป หากสมาร์ทโฟนเราหาย ทางนอร์ตันจึงสร้างซอฟต์แวร์ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากการสูญหายของเครื่องได้ ทั้งการตามรอย การถ่ายภาพจากกล้องหน้าจากทางไกล เพื่อเก็บภาพของผู้ที่หยิบโทรศัพท์เราไป หรือจะเป็นการลบข้อมูลทั้งหมดหากเกิดการเปิดเครื่องหลังถูกขโมย ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญของคุณจะไม่ถูกผู้ไม่หวังดีเอาไปได้อย่างแน่นอน

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องหันมาตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้สมาร์ทโฟน เพราะสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ที่ติดตัวเราไปไหนมาไหน พร้อมกับข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเราอีกมากมายที่ไม่อยากให้ใครมาล้วงเอาไปได้


(อ้างอิงจาก : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2555 หน้า 9)


แล้ว "สมาร์ทโฟน" มีผลต่อกระบวนทัศน์ทางการศึกษา อย่างไร

สมาร์ทโฟน เปรียบเสมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องหนึ่งที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก และสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายและรวดเร็ว การหาข้อมูล และความรู้ต่างๆ ไม่ใช่มีเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น "สังคมออนไลน์" ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้เราได้ค้นคว้าหาความรู้ ได้อย่างกว้างขวาง และสมาร์ทโฟนนี้ จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญ ในวงการศึกษา ในด้านการบริหาร การบริการ และการใช้เพื่อการเรียนการสอน
แนวโน้มในการนำสมาร์ทโฟนมาใช้ในการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต จะเป็นรูปแบบของการเรียนการสอน โดยนำเอาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน มาผสมผสานกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ พกพาไปได้ทุกที่ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และเรียนรู้ได้ในทุกเวลา ทุกโอกาส