วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

LMS นวัตกรรมทางการศึกษา : ตอบโจทย์ปัญหาเด็กไทยในวันนี้ได้หรือไม่

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๕ ต่างมีหลักการในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่พึงประสงค์ การศึกษาเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และเป็นกระบวนการช่วยให้คนพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันคุณภาพการศึกษากำลังเป็นจุดวิกฤต เนื่องจากคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยต่ำลงทั้งด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล และการริเริ่มสร้างสรรค์จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศประจำปีโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) รายงานว่าปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ไทยอยู่อันดับที่ ๔๙ จาก ๔๙ ประเทศที่เข้าแข่งขัน (สมบัติ การจนารักพงศ์. ๒๕๔๕ : ; อ้างอิงจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. ๒๕๔๔)

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ หมวด ๔ แนวทางการจัดการศึกษา มาตรา ๒๒ ความว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาจึงต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ จากพระราชบัญญัติจะเห็นว่า การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรอรับความรู้จากผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว บทบาทของผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมและเทคนิควิธีสอนอย่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้ตามศักยภาพของเขา ผู้สอนจึงต้องมีความรู้ในการเตรียมสื่อการเรียนการสอน การออกแบบการสอนอาจจะเป็นบทเรียนสำหรับเรียนด้วยตนเอง จากการจัดการเรียนการสอนตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษา เทคโนโลยีทางการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการศึกษา โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจทางวิชาการของผู้สอนไปยังผู้เรียนด้วยวิธีการหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ หมวด ๙ เทคโนโลยีการศึกษา มาตรา ๖๗ ความว่า รัฐต้องส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนาการผลิตและการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย ในวงการศึกษาปัจจุบันจึงได้มีการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะคอมพิวเตอร์เป็นสื่อที่มีศักยภาพสูง สามารถสนองตอบต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี และผู้เรียนยังสามารถควบคุมเวลาในการเรียนด้วยตนเองได้
จากหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษา ที่กล่าวมา ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาขึ้น (LMS : Learning Management System) ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งทางการศึกษา
            LMS เป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมากใน e-Learning (e-Learning คือ รูปแบบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือสื่ออิเลคทรอนิกส์ในการถ่ายทอดเรื่องราว และเนื้อหา โดยสามารถมีสื่อในการนำเสนอบทเรียนได้ตั้งแต่ 1 สื่อขึ้นไป และการเรียนการสอนนั้นสามารถที่จะอยู่ในรูปของการสอนทางเดียว หรือการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ได้)
            LMS เป็นแอพพลิเคชันที่มาช่วยจัดการ และควบคุมกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมดของ e-Learning อาศัยการติดตามผล วิเคราะห์ และรายงานถึงประสิทธิภาพของระบบฝึกอบรม รวมทั้งช่วยในการจัดการฐานข้อมูลความรู้ของหน่วยงาน เนื่องจากการเรียนแบบออนไลน์หรือ e-learning นั้นเป็นการเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษา เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองระบบบริหารการเรียนที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง กำหนดลำดับของเนื้อหาในบทเรียน นำส่งบทเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังผู้เรียน ประเมินผลความสำเร็จของบทเรียน ควบคุม และสนับสนุนการให้บริการทั้งหมดแก่ผู้เรียน จึงถือว่า (LMS :  e-Learning Management System) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ e- learning

 
LMS ประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้
1.      ระบบการจัดการหลักสูตร (Course Management) กลุ่มผู้ใช้งานแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ผู้เรียน ผู้สอน และผู้บริหารระบบ โดยสามารถเข้าสู่ระบบจากที่ไหน เวลาใดก็ได้ โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ระบบสามารถรองรับจำนวน userและจำนวนบทเรียนได้ไม่จำกัด โดยขึ้นอยู่กับ hardware/softwareที่ใช้ และระบบสามารถรองรับการใช้งานภาษาไทยอย่างเต็ม
2.      ระบบการสร้างบทเรียน (Content Management) ระบบประกอบด้วยเครื่องมือในการช่วยสร้าง Content ระบบสามารถใช้งานได้ดีทั้งกับบทเรียนในรูป Text – based และบทเรียนในรูปแบบ Streaming Media
3.      ระบบการทดสอบและประเมินผล (Test and Evaluation System) มีระบบคลังข้อสอบ โดยเป็นระบบการสุ่มข้อสอบสามารถจับเวลาการทำข้อสอบและการตรวจข้อสอบอัตโนมัติ พร้อมเฉลย รายงานสถิติ คะแนน และสถิติการเข้าเรียนของนักเรียน
4.      ระบบส่งเสริมการเรียน (Course Tools) ประกอบด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้เรียน – ผู้สอน และ ผู้เรียน – ผู้เรียน ได้แก่ Webboard และ Chatroom โดยสามารถเก็บ History ของข้อมูลเหล่านี้ได้
5.      ระบบจัดการข้อมูล (Data Management System) ประกอบด้วยระบบจัดการไฟล์และโฟลเดอร์ ผู้สอนมีเนื้อที่เก็บข้อมูลบทเรียนเป็นของตนเอง โดยได้เนื้อที่ตามที่ Admin
จากการนำระบบ LMS มาใช้ในระบบการศึกษาของเด็กไทย จึงสามารถตอบสนองแนวทางตามพระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๒ ในเรื่องการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน แก้ปัญหาในเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี และในปี ๒๕๕๘ การจัดตั้งประชาคมอาเซียน จะเกิดขึ้น การพัฒนาระบบ LMS อาจจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ก็เป็นได้

2 ความคิดเห็น:

  1. ข้อความอ่านง่ายค่ะ แต่ขอตินิดเดียวนะนุ้ยว่า LMS ประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้ เว้นวรรคตัวอักษรระหว่างข้อไม่ตรงกันค่ะ อาจเนื่องจากตั้งกั้นหลังตรงหรือเปล่าค่ะ อย่างอื่นก็โอเคนะคะ

    ตอบลบ
  2. ต้องยอมรับว่าเส้นทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในประเทศไทย เริ่มที่พรบ.กาศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ปรับ 2545 เป็นจุดเริ่มจากที่ผู้สอนหันมาสนใจเด็ก สนใจในตัวของเด็ก และพัฒนาในสิ่งที่เป็นของนักเรียน จากห้องเรียนที่อยู่ในกรอบเป้นออกนอกกรอบ นอกหลักสูตรแกนกลาง มีเนื้อหาหลักสูตรท้องถิ่นที่ปรับตามสภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและการเป็นอยู่ของผู้เรียน อันเป็นจุดเริ่มต้น แต่นั่นแหละเนื่องจากความทันสมัยบนเครื่องมือและคนที่ตามสมัยไม่ทัน จึงหลักสูตรนี้กระตุ้นได้เพียงบางกลุ่มที่ให้ความสนใจและมีแนวโน้มในการพัฒนาผู้เรียนให้ไปสู่จุดสูงสุด มาวันนี้ในพรบ.แห่งชาติ ในกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ของท่านนายกประยุทธ์ ก็เป็นแผนที่พัฒนาและเข้าใจว่าทำทั้งระบบในกลยุทมธ์ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งครอบคลุมทุกกระบวนการ จึงน่าจะก่อเกื้อและหนุนซึ่
    งกันและกันได้เป็นอย่างดี จึงเราในฐานะผู้วางเส้นทางพัฒนาผู้เรียนในแต่ละโรงเรียนได้ออกแบบให้สอดรับและมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าน ที่นี่เราโรงเรียนแสงทองเริ่มต้นที่ปรับปรุงระบบทั้งในกรอบของโครงสร้างและในกรอบของการเรียนรู้คือทั้งระบบ EPS และ LMS เมื่อสรุปผลการดำเนินงานในระยะ 3 ปี จะนำเสนอและดูเส้นทางในการออกแบบให้ได้ประโยนช์สูงสุดต่อไป ขอเป็นกำลังให้ทุกๆท่าน นะครับ ลุงยีราฟ

    ตอบลบ